Search
Close this search box.

ดร. วันทนา ศิวะ นักฟิสิกส์ชาวอินเดียผู้กลายมาเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและอาหาร ให้แง่คิดที่น…

[ad_1]

ดร. วันทนา ศิวะ นักฟิสิกส์ชาวอินเดียผู้กลายมาเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและอาหาร ให้แง่คิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “ไวรัส มนุษยชาติ และโลก” ไว้ว่า
ไวรัสจิ๋วๆทำให้โลกต้อง lockdown เศรษฐกิจทั่วโลกปิดฉาก ดับชีวิตคนเรือนแสน ตัดการทำมาหากินคนนับล้าน
โคโรน่าไวรัสบอกให้เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับตัวเองในฐานะมนุษย์ กระบวนทัศน์หลักทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี รวมทั้งโลก?
อันดับแรกสุด การ lockdown เตือนให้เราตระหนักว่าโลกมีไว้สำหรับทุกสปีชีส์ เมื่อเราถอยออกไป ทำให้ถนนปลอดรถ มลพิษในอากาศจึงลดลง ช้างจึงออกมาย่านชานเมืองและอาบในแม่น้ำคงคา เสือดาวออกมาเพ่นพ่านแถว Chandigarh
บทเรียนบทที่ 2 คือ โรคระบาดนี้ไม่ใช่ “ภัยธรรมชาติ” เช่นเดียวกับที่การแปรปรวนของสภาวะอากาศไม่ใช่ “ภัยธรรมชาติ” โรคระบาดอุบัติใหม่เกิดจาก “การกระทำของมนุษย์” เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ
วิทยาศาสตร์บอกเราว่า ขณะที่เรารุกรานระบบนิเวศในป่า ทำลายบ้านของสปีชีส์ต่างๆ เอาพืช-สัตว์มาสร้างผลกำไรนั้น เราสร้างเงื่อนไขให้เกิดโรคใหม่ๆขึ้นมา 50 ปีที่ผ่านมานี้มีจุลินทรีย์ก่อโรคใหม่ๆเกิดขึ้นมา 300 ชนิด 70% ของเชื้อก่อโรคในมนุษย์ ซึ่งรวมถึง HIV, อีโบล่า ไข้หวัดใหญ่ MERS และ SARS เกิดขึ้นมาเมื่อระบบนิเวศในป่าถูกรุกราน ไวรัสจึงกระโดดจากสัตว์มาที่คน เมื่อสัตว์แออัดกันอยู่ในฟาร์มโรงงานเพื่อผลกำไรสูงสุด โรคใหม่ๆอย่างหวัดหมู หวัดนก ก็แพร่กระจาย
ความโลภของมนุษย์ โดยขาดความเคารพต่อสิทธิของสปีชีส์อื่น หรือกระทั่งมนุษย์ด้วยกันเอง คือรากเหง้าของโรคระบาดครั้งนี้ รวมทั้งโรคที่จะระบาดในอนาคต เศรษฐกิจโลกที่อยู่บนพื้นฐานของภาพลวงตาแห่งการเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด แปลมาเป็นความกระหายอย่างไร้ขีดจำกัดต่อทรัพยากรโลก ซึ่งแปลมาเป็นการล่วงละเมิดอย่างไร้ขีดจำกัดต่อขอบเขตของโลก ขอบเขตของระบบนิเวศ และขอบเขตของสปีชีส์อีกต่อหนึ่ง
บทเรียนบทที่ 3 ซึ่งไวรัสปลุกให้เราตื่นขึ้นมารับรู้คือ ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเกี่ยวเนื่องกับภาวะฉุกเฉินแห่งการสูญพันธุ์และหดหายของสปีชีส์ เกี่ยวเนื่องกับภาวะฉุกเฉินด้านสภาวะอากาศ เมื่อเราเอายาพิษมาฆ่าแมลง ปราบศัตรูพืช วิกฤตการสูญพันธุ์จึงเลี่ยงไม่พ้น เมื่อเราเผาฟอสซิลคาร์บอน ซึ่งโลกใช้เวลากว่า 600 ล้านปีแปลงเป็นฟอสซิล เราก็ล่วงละเมิดขอบเขตของโลก ผลที่ตามมาคือการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ
วิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า หากมนุษย์ไม่ยุติการทำสงครามต่อโลกและสปีชีส์ต่างๆในโลกเช่นนี้ ในเวลาร้อยปีเราก็จะทำลายสภาวะที่เอื้อให้มนุษย์วิวัฒน์และอยู่รอดได้ไปเสีย เราจะสูญพันธุ์ตามสปีชีส์อื่นๆ 200 สปีชีส์ที่กำลังถูกย่ำยีให้สูญพันธุ์อยู่ทุกวันนี้ เราจะกลายเป็นอีกหนึ่งในล้านสปีชีส์ที่ถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์ เพราะความโลภ โอหัง และขาดความรับผิดชอบของมนุษย์
ภาวะฉุกเฉินที่เป็นอันตรายต่อชีวิตทั้งปวงในยุคสมัยของเรา มีรากเหง้ามาจากโลกทัศน์กลไกที่เน้นการใช้กำลังอำนาจ และยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง มองมนุษย์โดยแยกออกจากธรรมชาติ เป็นนายเหนือโลก สามารถครอบครอง ควบคุม และนำสปีชีส์อื่นๆมาใช้เพื่อผลกำไรตามต้องการได้ ไม่เพียงแต่เท่านั้น ยังมีรากเหง้าอยู่ในโมเดลเศรษฐกิจที่เห็นขีดจำกัดทางนิเวศและจริยธรรมเป็นอุปสรรคซึ่งจะต้องกำจัดออกไป เพื่อขยายการเพิ่มพูนของผลกำไรอีกด้วย โมเดลแบบนี้ไม่คำนึงถึงสิทธิของแม่พระธรณี สิทธิของสปีชีส์อื่น สิทธิของมนุษย์ และสิทธิของชนรุ่นหลังเลย
ระหว่างวิกฤตครั้งนี้ ตลอดจนการฟื้นตัวภายหลังการ lockdown เราจะต้องเรียนรู้ที่จะปกป้องโลก ระบบภูมิอากาศของโลก สิทธิและพื้นที่ทางนิเวศของสปีชีส์อื่นๆ ชนพื้นเมือง สตรี กสิกร และคนงาน
เราจะต้องเปลี่ยนจากเศษฐกิจแห่งความละโมบและการเติบโตอย่างไม่มีขีดจำกัด ซึ่งผลักเราไปสู่วิกฤตแห่งการดำรงชีวิต เราจะต้องตื่นขึ้นรับรู้ความจริงว่า เราเป็นสมาชิก “ครอบครัวโลก” และเศรษฐกิจที่แท้คือ “เศรษฐกิจแห่งความเอาใจใส่ดูแล” ทั้งต่อโลกและต่อกันเอง
การที่จะหลีกเลี่ยงโรคระบาดในอนาคต ความอดอยากในอนาคต และความเป็นไปได้ที่จะมีคนพวกที่ไม่ต้องคำนึงถึงได้ เราจะต้องก้าวให้พ้นจากระบบเศรษฐกิจที่กลายเป็นอุตสาหกรรมไปหมดและแผ่ไปครอบทั่วทั้งโลก ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ ทำลายสปีชีส์ต่างๆจนสูญพันธุ์ และทำให้โรคที่คุกคามชีวิตแพร่ระบาด การจำกัดวงอยู่ตามท้องถิ่นจะเปิดให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเศรษฐกิจท้องถิ่นรุ่งเรือง
เราจะต้องลดรอยเท้านิเวศลงอย่างตระหนักรู้ เพื่อจะได้เหลือทรัพยากรและพื้นที่ทางนิเวศให้สปีชีส์อื่นๆ มนุษย์ทั้งมวล และชนรุ่นหลัง
ภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพและการ lockdown แสดงให้เห็นแล้วว่า เมื่อมีเจตจำนงทางการเมือง เราสามารถเสริมสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นขึ้นได้ เรามาทำให้การเสริมสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นนี้เป็นเรื่องถาวรกันเถอะ
ประสบการณ์จากนวธัญญะสอนเรามากว่า 3 ทศวรรษแล้วว่า ระบบอาหารอินทรีย์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพจากท้องถิ่น ช่วยให้ทุกคนมีอาหารที่ถูกสุขลักษณะ พร้อมกับชุบชีวิตให้ผืนดิน น้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่งคั่งหลากหลายทางชีวภาพในป่า ไร่นา อาหารของเรา microbiome ของเรา เชื่อมโยงโลก สปีชีส์ที่หลากหลายในโลก รวมทั้งมนุษย์ ด้วยสุขภาวะ แทนที่จะเป็นโรคภัย
ไวรัสจิ๋ว ๆ สามารถช่วยให้เราก้าวกระโดดเพื่อสร้างอารยธรรมโลกและระบบนิเวศที่อยู่บนฐานของความกลมกลืนกับธรรมชาติได้ หรือไม่เราก็อยู่ต่อไปในมายาแห่งการพิชิตธรรมชาติ และเคลื่อนรุดหน้าอย่างเร่งรีบไปสู่โรคระบาดต่อไป แล้วจากนั้นก็ไปสู่ความดับสูญ
โลกจะยังคงวิวัฒน์ต่อไป ไม่ว่าจะมีเราหรือไม่ก็ตาม
จาก A virus, humanity, and the earth
https://www.deccanherald.com/…/a-virus-humanity-and-the-ear…
Credit: Janpen Panyotai, Ramet Tanawangsri


[ad_2]

Source

Loading

Scroll to Top