ความ เจริญของล้านนาเริ่มปรากฎอย่างเด่นชัดนับตั้งแต่สมัยพญากือนาเป็นต้นมา ด้วยการทำให้เชียงใหม่เป็นศุนย์กลางศาสนาแทนหริภุญชัยพระองค์ทรงรับพุทธ ศาสนานิกายลังกาวงศ์จากสุโขทัย และอาราธนาพระสุมนเถระมาจำพรรษาที่วัดสวนดอก ในระยะนี้นิกายวัดสวนดอกในเชียงใหม่ ได้รุ่งเรืองมากและมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “นิกายรามัญ” หรือตั้งแต่ราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา
ในช่วงเวลานี้หลักฐานสำคัญคือ จารึกวัดพระยืนกล่าวถึงการอัญเชิญพระธาตุโดยพระสุมนเถระจากสุโขทัยขึ้นมา เชียงใหม่ในรัชกาลพระเจ้ากือนารูปแบบสถาปัตยกรรมได้ปรากฏเจดีย์ทรงกลม ดังตัวอย่างสำคัญที่ เจดีย์วัดสวนดอก เชียงใหม่ เป็นที่พระเจ้ากือนาโปรดให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับของพระสุมนเถระ เป็นต้น
และเจดีย์ที่ใช้รูปแบบเจดีย์สุโขทัย ดังตัวอย่างสำคัญที่นักวิชาการเชื่อว่าน่าจะปรากฏในช่วงนี้คือ เจดีย์กู่ม้า ลำพูน เป็นต้น
สถาปัตยกรรมในช่วงเวลาข้างต้นถือได้ว่ามีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการเผย แพร่พุทธศาสนาลังกาวงส์ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “นิกายรามัญ”
เมื่อล่วงถึงรัชกาลพระเจ้าแสนเมืองมา และสามประหยาฝั่งแกน สถาปัตยกรรมคงถือได้ว่าเป็นช่วงที่ส่งผ่านให้งานสถาปัตยกรรมเจริญอย่างสูงใน รัชกาลต่อมาคือ รัชกาลพระเจ้าติโลกราช พระองค์ได้แผ่ขยายพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่เมืองแพร่และน่านได้ ดังนั้นความเป็นปึกแผ่นของอาณาจักร รวมทั้งการสืบศาสนาลังกาวงศ์ใหม่ นำไปสู่ความมั่นคงทั้งด้านอาณาจักรและศาสนจักร จึงทำให้ตั้งแต่รัชกาลนี้เป็นต้นมา ส่งผลให้ถือเป็นยุครุ่งเรื่องทางด้านสถาปัตยกรรมด้วย
พระเจ้าติโลกราชทรงให้มีการทำสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ 8 ที่ “วัดมหาโพธาราม” หรือวัดเจ็ดยอด สถาปัตยกรรมในวัดเจ็ดยอดจึงอาจถือเป็นตัวแทนของงานช่างสถาปัตยกรรมในพื้นที่ เชียงใหม่ในสมัยนี้ได้เป็นอย่างดี ดังตัวอย่างของวิหารมหาโพธิ์ที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการถ่ายแบบจากประเทศ อินเดีย อนิมิสเจดีย์
มณฑปพระแก่นจัทร์แดง เป็นต้น
สืบเนื่องถึงรัชกาลพระเมืองแก้ว ผลดีจากรัชกาลก่อนจึงส่งให้กับรัชกาลนี้เช่นกัน ทั้งในรัชกาลพระเจ้าติโลกราชและรัชกาลพระเมืองแก้วสถาปัตยกรรมในช่วงเวลา ข้างต้นถือได้ว่ามีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการเผยแพร่พุทธศาสนาลังกาวงส์ ใหม่หรือที่เรียกว่า ” สีหลภิกขุ ”
รูปแบบเจดีย์
เจดีย์ที่สืบทอดรูปแบบในช่วงก่อน ตัวอย่างสำคัญที่ เจดีย์วัดพญาวัด เมืองน่าน คงสืบทอดรูปแบบเจดีย์ทรงปราสาทแบบเจดีย์กู่กุดและกู่คำ อาจถือเป็นสัญลักษณ์ทางอำนาจของพระเจ้าติโลกราชที่แผ่ขยายไปสู่เขตล้านนา ตะวันออก
เจดีย์ที่พัฒนาขึ้น มีตัวอย่างสำคัญคือเจดีย์หลวง ที่พระเจ้าติโลกราชโปรดให้ ” รวบเป็นกระพุ่มยอดเดียว ” นักวิชาการบางท่านกล่าวว่าอาจเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบจากเจดีย์ 5 ยอดเป็นเจดีย์ยอดเดียวหรือเจดีย์ทรงปราสาทยอด แม้ส่วนยอดเจดีย์หลวงจะหักหายแต่เชื่อว่าส่วนยอดเดิมน่าจะเกี่ยวเนื่องกับ ส่วนยอดเจดีย์วัดเชียงมั่นซึ่งจารึกวัดเชียงมั่นกล่าวว่าเป็นที่แรกที่พญา มังรายโปรดให้สถาปนาขึ้นเป็นแห่งแรกเมื่อตั้งเมืองเชียงใหม่นั้น แต่องค์ที่เห็นในปัจจุบันนั้น จารึกวัดเชียงมั่นกล่าวว่าพระเจ้าติโลกราชโปรดให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2016 โดยได้สร้างเป็นทรงกระพุ่มยอดเดียว
นอกจากนั้นยังพบกลุ่มเจดีย์ทรงระฆังที่เริ่มปรับรูปแบบจากผังกลมไปเป็นผัง หลายเหลี่ยม ดังตัวอย่างของเจดีย์วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ เป็นต้นและเจดีย์ทรงปราสาทยอดทรงระฆัง ดังตัวอย่างขงเจดีย์บรรจุอัฐิพระเจ้าติโลกราช วัดเจ็ดยอด ที่สร้างในรัชกาลพระเมืองแก้ว
เจดีย์ที่รับอิทธิพลจากรูปแบบภายนอก ในช่วงเวลานี้พระเจ้าติโลกราชได้ยึดครองเมืองเชลียงหรือศรีสัชชนาลัย อันเป็นฐานอำนาจสำคัญของสุโขทัย ก่อนที่พระองค์จะทำสงครามยืดเยื้อกับอยุธยาในรัชกาลพระบรมไตรโลกนาถ ดังนั้นจึงอาจเป็นที่มาของอิทธิพลสถาปัตยกรรมสุโขทัย ดังตัวอย่างสำคัญที่เจดีย์วัดป่าแดง เชียงใหม่และวัดป่าแดงบุนนาค เมืองพะเยา ที่เด่นชัดทางรูปแบบเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย การผสานอิทธิพลสถาปัตยกรรมสุโขทัยกับล้านนาเด่นชัดอย่างมากในรัชกาลนี้ ดังตัวอย่างสำคัญที่เจดีย์วัดพระธาตุลำปางหลวง เมืองลำปาง มีจารึกระบุสร้าง พ.ศ. 2039ปรากฏอิทธิพลสถาปัตยกรรมสุโขทัยเด่นชัดที่รูปแบบชั้นฐานรองรับองค์ระฆัง แบบบัวถลา
รูปแบบของวิหาร
ในช่วงยุคทองนี้ปรากฏหลักฐานอาคารหลังคาคลุม มีตัวอย่างสำคัญได้แก่วิหารพระพุทธและวิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง นักวิชาการบางท่านเสนอว่ารูปแบบสำคัญของวิหารล้านนาคือ การยกเก็จอันสัมพันธ์กับการซ้อนชั้นหลังคา โครงสร้างหลักของวิหารได้แก่ วิหารแบบเปิดหรือที่เรียกว่า ” วิหารป๋วย ”
และวิหารแบบปิด โดยวิหารส่วนใหญ่ให้ความสำคญกับการใช้ระบบม้าต่างไหมในส่วนหน้าบัน
นอกจากนั้นยังปรากฏวิหารปราสาท คือการก่อรูปปราสาทต่อท้ายวิหาร ใช้ปราสาทเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป มีตัวอย่างสำคัญที่วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ที่เชื่อว่าน่าจะใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงส์ เป็นต้น อันน่าจะเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมสุโขทัยหรือพม่าสมัยพุกามด้วย
ในช่วงยุคทองนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่าสถาปัตยกรรมประเภทต่าง ๆ แสดงความหลากหลายทางด้านรูปแบบ
อันล้วนได้แรงบันดาลใจทั้งจากงานสถาปัตยกรรมในยุคก่อน อิทธิพลจากสถาปัตยกรรมภายนอกดังเช่นสุโขทัย พม่าสมัยพุกาม เป็นต้น จนกระทั่งมีพัฒนาการที่ลงตัว และรูปแบบสถาปัตยกรรมในช่วงเวลานี้จะได้รับการสืบทอดไปในยุคต่อมา แต่จะเริ่มแสดงถึงความเสื่อมของงานช่างลงมาเป็นลำดับในสมัยต่อมา
แหล่งอ้างอิง :
สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ , เที่ยววัดเที่ยววา ชมปูนปั้นล้านนา ( กรุงเทพฯ : สายธาร, 2544 )
วิฑูรย์ เหลียวรุ่งเรือง,สถาปัตยกรรมในเมืองเชียงใหม่ ( เชียงใหม่ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2545 )
วิฑูรย์ เหลียวรุ่งเรือง,สถาปัตยกรรมลำพูน ( เชียงใหม่ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2545 )
สันติ เล็กสุขุม, ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญไชย – ล้านนา ( กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ,2538 )
เสนอ นิลเดช,ศิลปสถาปัตยกรรมล้านนา ( กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ,2538 )
เสนอ นิลเดช,ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทย ( กรุงเทพฯ : โรงพิมพมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2538 )
วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์,วิหารล้านนา ( กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ,2544 )
วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์,รายงานการวิจัยเรื่องวิหารปราสาทในเขตภาคเหนือตนบน
( เชียงใหม่ : ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2545)
จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา, พระเจดีย์เมืองเชียงใหม่ ( กรุงเทพฯ : วรรณรักษ์,2539 )
จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา, พระเจดีย์เมืองเชียงแสน ( กรุงเทพฯ : โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮาส์ ,2539 )
พิริยะ ไกรฤกษ์,ประวัติศาสตร์ศิลปะไทยฉบับคู่มือนักศึกษา ( กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พลับลิชชิง)