สมัยก่อนล้านนา

รูป แบบสถาปัตยกรรมล้านนา ที่สร้างขึ้นก่อน พ.ศ.1839 หรือก่อนการรวมอาณาจักรล้านนาคือ ” สมัยหริภุญไชย ” สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในนี้ปรากฏมากในพื้นที่เมืองลำพูน อันเป็นศูนย์กลางการปกครอง ได้แก่ เจดีย์กู่กุด ซึ่งเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยม และรัตนเจดีย์เป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมในวัดเดียวกัน คือ วัดที่เรียกกันในชั้นหลังว่า วัดจามเทวี

เจดีย์ทั้งสององค์นี้ก่อเป็นทรงปราสาท คำว่าปราสาทหมายถึงเรือนหลายชั้น แต่เมื่อเป็นสิ่งก่อสร้างทางศาสนาในรูปของสถูปเจดีย์ เพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุ หรือประดิษฐานพระพุทธรูป ก็ไม่จำเป็นต้องทำเป็นชั้นซ้อนจริง เพราะมิได้ใช้พื้นที่ภายในเพื่อประกอบศาสนกิจการทำซ้อนชั้นจึงเป็นรูปแบบ สัญลักษณ์เท่านั้น ต่อเนื่องจากชั้นซ้อนย่อมเคยมียอดแหลม อยู่ประเภทเรือนยอด หรือ กุฎาคาร ก็เป็นประสาทอีกด้วย

ในเมืองลำพูนยังพบหลักฐานเจดีย์ทรงปราสาท 5 ยอดคือเจดีย์วัดเชียงยืน(หรือเรียกว่า เชียงยัน) อยู่ในวัดพระธาตุหริภุญไชยในอำเภอเมืองเช่นกัน และปรากฏเจดีย์ทรงลอมฟาง คือเจดีย์กู่ช้าง ที่นักวิชาการกล่าวว่าน่าจะเป็นรูปแบบที่รับจากสถาปัตยกรรมแบบพม่าสมัยพุกาม อีกด้วย

นอกจากนั้นในเขตป่าซางก็มีวัดหนองดู่ เจดีย์ของวัดนี้ใช้เทคนิคการก่อโดยใช้เสารับน้ำหนักส่วนยอดกลาง
อันเป็นรูปแบบและเทคนิคที่นิยมอยู่ในสถาปัตยกรรมแบบพม่าสมัยพุกาม และเจดีย์เชียงยืน เจดีย์ทั้งสองแห่งข้างต้นล้วนเป็นเจดีย์ทรงปราสาทอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ยังมีปัญหาทางด้านกำหนดอายุการสร้าง ว่าควรเป็นรูปแบบของศิลปะหริภุญไชยตอนปลาย หรือเป็นรูปแบบของล้านนาตอนต้น

ตัวอย่างหลักฐานสถาปัตยกรรมดังกล่าวข้างต้นชี้ให้เห็นความเกี่ยวเนื่องกับ รูปแบบทรงปราสาท อันเป็นหลักฐานที่หลงเหลือมาในปัจจุบัน คงเหลือเฉพาะสถาปัตยกรรมเจดีย์ (ใช้วัสดุที่เป็นอิฐหรือศิลาแลงให้เหมาะสมกับโครงสร้าง) รูปแบบเจดีย์จึงมีแรงบันดาลใจสำคัญจากสถาปัตยกรรมสมัยหริภุญไชยที่ยังคงมี ลักษณะบางประการที่เกี่ยวเนื่องกับสถาปัตยกรรมแบบทวารวดีด้วยเช่นกัน พร้อมๆกับแรงบันดาลใจจากศิลปะพม่าแบบพุกาม และลักษณะบางประการที่เป็นเอกลักษณ์ของงานช่างพื้นถิ่นในช่วงก่อนการตั้ง อาณาจักรล้านนา

อนึ่ง รูปแบบสถาปัตยกรรมในสมัยนี้จะส่งอิทธิพลหรือเป็นต้นแบบให้กับสถาปัตยกรรมล้านนาที่จะพัฒนาขึ้นในยุคต่อมาด้วย

สำหรับสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เช่น วิหาร อุโบสถ หอไตร หรือบ้านเรือน ย่อมล้วนมีโโครงหลังคาเครื่องไม้ น่าจะมุงด้วยแป้นเกล็ด(แผ่นไม้แทนกระเบื้อง) หรือมุงด้วยกระเบื้องดินเผา จึงชำรุดเสียหายไปหมด ไม่เหลือหลักฐานให้ศึกษาได้แล้วในสภาพปัจจุบัน

แหล่งอ้างอิง :
สันติ เล็กสุขุม, ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญไชย – ล้านนา ( กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ,2538 )
สุรพล ดำริห์กุล, ประวัติศาสตร์และศิลปะหริภุญไชย ( กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ,2547 )
ศํกดิ์ชัย สายสิงห์,ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย ( กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ,2548 )