การพัฒนาพื้นที่ศิลปะในเมืองและชุมชนของกลุ่มจังหวัดล้านนา งานประติมากรรมเมล็ดข้าวทุ่งโป่ง บ้านเหล่าพัฒนา อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย

ที่มา: อมลณัฐ ไฝเครือ. กระบวนการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติแบบบูรณาการของชุมชนบ้านเหล่าพัฒนา
ต.ป่าแดด อ. แม่สรวย จ.เชียงราย. วิทยานิพนธ์พัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต. คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557, หน้า 77-78.

คณะผู้วิจัยทำการสัมภาษณ์และประชุมกลุ่มร่วมกับชาวบ้านในชุมชน เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน และอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะเชิงพุทธสู่วิถีชุมชนในรูปแบบงานประติมากรรมเมล็ดข้าว ดังนี้

พื้นที่ข้อมูลพื้นฐานบ้านเหล่าพัฒนา อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย

ประวัติความเป็นมา

ชุมชนบ้านเหล่าพัฒนา เป็นชุมชนที่มีการตั้งถิ่นฐานมานานกว่า ๑๕๘ ปี แต่เดิมเป็นส่วน หนึ่งของบ้านโป่ง หรือ “บ้านโป่งหนองขวาง”  บ้านโป่งหนองขวาง;  โป่ง คือ พื้นดินบริเวณที่มีแร่ธาตุสะสมแล้วมีสัตว์มากินจนกลายเป็นแอ่ง เป็นแหล่งอาหารที่จำเป็นของสัตว์กีบและสัตว์กินพืช เช่น ช้าง กระทิง รวมทั้งนกทั้งหลายชนิด ซึ่งโป่ง แบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ โป่งดินและโป่งน้ำ โป่งน้ำจะแตกต่างจากโป่งดินตรงที่เป็นบริเวณที่มีน้ำไหลซึมตลอดทั้งปี ซึ่งแตกต่างโป่งดินที่จะมีลักษณะแข็งมากกว่า โดยเฉพาะฤดูร้อน

หนองขวาง คือ หนองน้ำ ที่เกิดขึ้นและอยู่ขวางบริเวณทุ่งนาจำนวนมาก ดังนั้น บ้านโป่งหนองขวางจึงเป็นชื่อที่มีที่มาจากลักษณะภูมิประเทศของชุมชนที่มีหนองน้ำขนาดใหญ่ จำนวนมาก อยู่กลางทุ่งนา ซึ่งทุ่งนาในพื้นที่นั้นก็มีลักษณะเป็นโป่งน้ำ เป็นแหล่งหาอาหารของสัตว์ต่างๆ  (บริเวณบ่อน้ำร้อนสามสีในปัจจุบัน)

เมื่อแรกเริ่มผู้ที่มาก่อตั้งหมู่บ้านนั้นได้อพยพมาจากจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๙๘ ประมาณจำนวน ๒๐ หลังคา โดยลักษณะการตั้งถิ่นฐานจะ อยู่กันเป็นหย่อมๆ ไม่กระจายตัว

การปกครอง

การปกครองในสมัยนั้น เริ่มแรกมีผู้ปกครองชื่อพระยาใจ เป็นหัวหน้าหมู่บ้านซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสมัยนั้นเรียกว่าตำแหน่งอะไร เพราะสมัยนั้นยังไม่มีตำแหน่ง กำนันผู้ใหญ่บ้าน และอำเภอยังเรียกว่า แขวง ผู้คนที่อพยพมานั้นประกอบอาชีพทำนา และทำไร่ ผู้คนทั้งหมดเป็นเชื้อสายไทยใหญ่ (ไตเงี้ยว) ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่สำหรับทำไร่ทำนาส่วนใหญ่ และเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้มีการอพยพ ย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่บ้านเหล่าทั้งหมด ๖ ครอบครัว โดยมีครอบครัวของอุ๊ยหนานยะ นัยนา ได้อพยพมาสร้างครอบครัวที่นี่เป็นครอบครัวแรก ต่อมาจึงมีครอบครัวอื่นย้ายมาตั้งถิ่นฐานเพิ่มขึ้น คือ ครอบครัวอุ๊ยหม่อง อินต๊ะชัยวงค์ ครอบครัวพ่ออุ๊ยอินถา กานันท์ ครอบครัวอุ๊ยเตรียม กานันท์

ครอบครัวอุ๊ยใจ๋ หัทยา อุ๊ยตุ่น ถนอมมิตร อุ๊ยบัวตอง ไม่ทราบนามสกุล โดยมีการอยู่กันแบบเครือญาติ มีการพึงพิงอิงกัน จนต่อมาเริ่มมีครอบครัวเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อรุณ สมใจ (สัมภาษณ์ 24 ตุลาคม 2556)

พระยาใจปกครองอยู่ประมาณ 50 ปี ต่อมาทางราชการก็ได้แต่งตั้งนายน้อยนามวงค์ แถลงนิตย์ ขึ้นเป็นกำนัน ประมาณปี พ.ศ.2455 และได้ยศประทวนเมื่อปี พ.ศ.2462 เป็น “ขุนโป่งป้องธุรกรรม” ขุน  โป่งป้องธุรกรรม ปกครองหมู่บ้านอยู่ได้ประมาณ 15 ปี ก็ลาออกเพราะชราภาพแล้วทางราชการจึงแต่งตั้ง นายคำปัน ศรีคำเลิศ ขึ้นเป็นกำนันตำบลป่าแดด ประมาณปี 2479 ประมาณปี พ.ศ.2482 นายคำปันได้ลาออก จากตำแหน่ง และต่อมาได้แต่งตั้งนายแก้ว ศรีคำเลิศ ซึ่งเป็นบุตร กำนันคำปัน ขึ้นเป็น ผู้ใหญ่บ้านปกครองหมู่บ้านจนถึงยุคต่อ ๆมา คือ นายเติง  พิณสาร พ.ศ. 2523 นายเรียบ อภัยพนันท์ พ.ศ. 2524 นายศรีนวล อินต๊ะชัยวงค์ พ.ศ.2526 นายผล อินต๊ะชัยวงค์ พ.ศ. 2547 นายพงษ์ศักดิ์ อินต๊ะวงค์  พ.ศ.2554 ฟองนวล มหาจินดา (สัมภาษณ์ 23 ตุลาคม 2556)

บ้านเหล่าอยู่ในเขตการปกครองของบ้านโป่งรวมทั้งหมด 146 ปี จนเมื่อปี พ.ศ.2544 ได้แยกการปกครองออกจากบ้านโป่ง เนื่องจากบ้านโป่งเป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่การปกครองที่ค่อนข้างกว้างขวางจึงยากแก่การบริหารจัดการ จึงได้มีการแยกหมู่บ้าน โดยมีนายศรี ขัดดี ได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้านในช่วงนั้น จากนั้นเมื่อนายศรีหมดวาระการเป็นผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. 2548 นายจันทร์ อินต๊ะไชยวงค์ จึงได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน จนถึง พ.ศ. 2548 และต่อมานายสำราญ แสนหลวงได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ตั้งแต่ พ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันบ้านเหล่าพัฒนา มี นายสำราญ แสนหลวงเป็นผู้ใหญ่บ้าน พร้อมคณะทำงาน ประกอบด้วยมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 คน ได้แก่  1. นายสมชาย หัทยา 2. นายสาคร แสนสุรีย์ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล 2 ท่าน ได้แก่ 1. นายโสภณ แสนชัย 2. นายเกษม กองบุญเรือง มีจำนวนประชากรทั้งหมด 250 คน และ 80 ครัวเรือน

ที่ตั้งและอาณาเขต

ชุมชนบ้านเหล่าพัฒนามีพื้นที่ประมาณ 1,800 ไร่ ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่สรวย  จังหวัดเชียงรายไปทางทิศตะวันตก (ประมาณ 9 กิโลเมตร)

โดยมีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ต่างๆ ดังต่อไปนี้

ทิศเหนือ จรดกับ หมู่บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 8 ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัด

เชียงราย

ทิศใต้ จรดกับ หมู่บ้านศรีดอนเรือง หมู่ 19 ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย

ทิศตะวันออก จรดกับ หมู่บ้านโป่ง หมู่ที่ 10 และบ้านสันกลางหมู่ 13 ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย

ทิศตะวันตก จรดกับ หมู่บ้านห้วยมะแกง หมู่ที่ 20 ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย

ภูมิประเทศพื้นที่

ภูมิประเทศพื้นที่ของชุมชนเป็นพื้นที่ราบส่วนใหญ่เป็นภูเขา และติดกับพื้นที่ป่าต้นน้ำ และ

บางส่วนเป็นพื้นที่ราบ พื้นที่ส่วนใหญ่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรป่าไม้ มีป่าเบญจพรรณ หรือป่าดงดิบที่อุดมไปด้วยพันธุ์ไม้ และพืชสมุนไพรจำนวนมาก เช่น ไม้ประดู่ ไม้ซาง ไม้กอก ไม้ฮัก กล้วยป่า เป็นต้น มีแม่น้ำสายสำคัญไหล ผ่าน คือ แม่น้ำแม่ตาช้าง

ทรัพยากรที่สำคัญในพื้นที่

ชุมชนบ้านเหล่าพัฒนา เป็นชุมชนที่มีทรัพยากรที่สำคัญอย่างมากมายทั้งทรัพยากรทางธรรมชาติ  และทรัพยากรด้านวัฒนธรรมที่มีมาแต่ช้านาน ซึ่งมีทั้งทรัพยากรที่มีการจัดการโดยชุมชนแล้ว และที่ยังที่ไม่มีการจัดการซึ่งจะดำเนินการต่อไปในภายภาคหน้า โดยทรัพยากรที่สำคัญหลักซึ่งผู้ศึกษาได้ศึกษาและแบ่งเป็นประเภท มีดังต่อไปนี้

ทรัพยากรธรรมชาติ  ได้แก่ ทรัพยากรป่าไม้ บ่อน้ำร้อนธรรมชาติ หรือโป่งน้ำร้อนสามสี  ทรัพยากรน้ำ แม่น้ำ สายสำคัญคือ แม่น้ำแม่ตาช้าง

ทรัพยากรทางวัฒนธรรม  แหล่งโบราณคดีดอยเวียง แหล่งโบราณคดีดอยวง พิพิธภัณฑ์ชุมชน  ดอยเวียงดอยวง องค์การบริหารส่วนตำบลป่าแดด

ประเพณีและวัฒนธรรม ความเชื่อ

ชุมชนมีการจัดงานประเพณีตลอดทั้งปีโดยมีการจัดตามประเพณีไทย เช่น สงกรานต์  เข้าพรรษา ออกพรรษา และตามประเพณีพื้นบ้านทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นประเพณีที่สำคัญและมี อิทธิพลเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งหลักๆ มีดังนี้

๑. ประเพณีตานข้าวใหม่ จัดช่วงเดือนมกราคม เป็นประเพณีที่สำคัญของคนล้านนาที่มีมา

ตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยมีความเชื่อว่า เมื่อมีการเริ่มต้นปีใหม่ถ้าได้เก็บเกี่ยวข้าวก็ต้อง ให้เทวดา บรรพบุรุษได้กินข้าวก่อน คนถึงจะได้กินมีการนำข้าวใหม่ที่ได้จากการเก็บเกี่ยวไปถวายทาน ทำบุญไปหาบรรพบุรุษ เทวดา บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วที่วัด

๒. ประเพณีตานก๋วยสลาก หลังจากฤดูทำนาว่างเว้นจากการทำนา จะมีการพบปะพี่น้องญาติ เพื่อสังสรรค์ในหมู่ญาติพี่น้อง ซึ่ง 1 ปีจะสามารถพบปะกันหนึ่งครั้ง เพราะตามประเพณีสมัยก่อน ที่มักจะมีการทำงานและไม่ค่อยได้พบปะกัน จึงใช้ประเพณีนี้เป็นการเชื่อมโยงเพื่อไม่ให้ญาติพี่น้องได้ห่างเหินกัน มีการทำบุญโดยนำเข้าของเครื่องใช้ใส่ชลอม ซึ่งข้าวของจะเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน เพื่อนำถวายทานให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับที่วัด

๓. ประเพณีปอยหลวง จะจัดเมื่อทางวัดมีการก่อสร้างเสนาะเสนาในวัด เช่น กำแพงวัด ศาลาเปรียญ ก็จะมีการจัดงานเฉลิมฉลอง จะมีการนำตุงไปถวายวัด เมื่อถวายเสร็จก็จะนำมาปักที่หน้าวัด มีข้าวต้มขนมของหวานของกินแขวนติดบริเวณเสา เพื่อบ่องบอกถึงความสำเร็จจากการรวมพลังของคนในชุมชนที่ร่วมสร้าง  มีการแห่เครื่องไทยทานเข้าวัด เป็นการเฉลิมฉลอง ซึ่งเครื่องไทยทานจะมีการถวายบ้านละ 1 ต้น เล็ก ใหญ่ แล้วแต่ความศรัทธา

๔. ประเพณีบวงสรวงดอยเวียง จะจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี เนื่องจากชาวบ้านมีความเชื่อว่า ดอยเวียงเป็นของคู่บ้านคู่เมือง ถ้าไม่มีการบวงสรวงก็จะทำให้เกิดภัยอันตรายแก่หมู่บ้าน

ชาติพันธ์และภาษา ชาวบ้านเหล่าพัฒนา เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเองว่า “เงี้ยว” สื่อสารกันด้วยภาษาท้องถิ่น  คือ  ภาษาเงี้ยว การสนทนาสำเนียงจะคล้ายๆ ภาษาไทยใหญ่ของประเทศพม่า แต่ไม่ได้เหมือนชัดเจนและรากคำศัพท์เหมือนภาษาล้านนา แต่จะต่างจากคำที่ออกเสียงด้วยสระ เช่น เอีย ก็จะเป็น เอ สระเอือ ก็จะ ออกเสียงเป็น เออ เช่น ไปซื้อเกลือ จะพูดว่า ไปซื้อเกอ  กินข้าวไม่เหลือ จะพูดว่า กินข้าวไม่เหลอ เป็นต้น

สถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้บ้านเหล่าพัฒนา

  1. แหล่งโบราณคดีดอยเวียง ดอยวง

เดือนเมษายน 2553 หลังจากพบว่ามีชาวบ้านที่เข้าไปขุดหาของป่าพบเครื่องมือหินขัดโบราณ จึงมีการทำพิธีบวงสรวงและเริ่มทำการขุดค้นในเดือนตุลาคม 2553 มีการแจ้งเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรเข้ามาพิสูจน์ ด้วยการนำทีมจาก พระสุธีรัตนบัณฑิต ผศ., ดร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ ศาสตราจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปกร และภาควิชาการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับนักศึกษา และภาคประชน ร่วมกระบวนการสำรวจและขุดค้น จึงทำให้ทราบว่า ดอยเวียง – ดอยวง เป็นแหล่งโบราณคดีในยุคหินใหม่ (Neolithic หรือ New Stone Age) ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงประมาณ 5,000 – 3,000 ปี โดยเป็นยุคที่มนุษย์เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตไปจากเดิมที่เคยเป็นพรานป่าล่าสัตว์ เร่ร่อนติดตามฝูงสัตว์และอาศัยอยู่ตามถ้ำ (ยุคหินเก่า-หินกลาง) มาอาศัยอยู่เป็นหลักแหล่ง และผลิตอาหาร ปลูกพืชได้เอง มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยหิน ได้รับการขัดเกลาให้แหลมคมเพื่อการใช้งานได้ดีที่เรียกว่า เครื่องมือหินขัด (กรณีที่ไม่สะดวกในการเดินทางขึ้นบนดอย สามารถดูหลุมสุสานสามพันปี บริเวณทางขึ้นดอยได้)

แหล่งหลุมสุสานสามพันปี บนพื้นที่ที่อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผาพญากอง

 

  1. พิพิธภัณฑ์ชุมชน ดอยเวียง ดอยวง

เป็นการนำวัตถุโบราณที่ขุดค้นพบในบริเวณดอยเวียง ดอยวง มารวบรวมและจัดแสดงให้แก่ผู้ที่สนใจและคนรุ่นหลังได้ศึกษา ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ชุมชน ซึ่งเกิดจากกระบวนการจัดการของชุมชน นำทีมโดย กลุ่มพิพิธภัณฑ์ ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม

พิพิธภัณฑ์ชุมชน ดอยเวียง ดอยวง

  1. จุดถ่ายภาพ 3 มิติ เรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชน

ภาพ 3 มิติ บนพื้นที่สาธารณะ “อารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์ ภาพวาดวิถีชุมชน หมักโคลนแช่น้ำพุร้อน นอนโฮมสเตย์บ้านเหล่าพัฒนา ป้ายสี 9” เป็น กิจกรรมวาดภาพเหมือนหมู่บ้านไทเงี้ยว ในการพัฒนาศิลปะเชิงพุทธ สู่วิถีชุมชนบนพื้นที่สาธารณะ แบบ 3 มิติ เป็นโครงการพัฒนาศิลปะเชิงพุทธ สู่วิถีชุมชน บนผนังสาธารณะโครงการป้ายสี แต้มฝัน ปันจินตนาการ ส่งเสริมกิจกรรมด้านศิลปะ นำโดยกลุ่มศิลปินจิตอาสา และเยาวชนในชุมชน ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจวาดภาพฝาผนัง ผสมผสานเรื่องราวในวิถีชุมชนไทเงี้ยว สะท้อนวิถีชีวิตเรื่องราวอัตลักษณ์ ภายใต้การสนับสนุนจากสำงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และสถาบันวิจัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ภาพ 3 มิติ เรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชน

  1. บ่อน้ำร้อนสามสี/ ออนเซน สไตส์บ้านทุ่ง

โป่งน้ำร้อน (น้ำพุร้อน) เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของชุมชน ซึ่งจากคำบอกเล่าของคนในชุมชน เล่าว่าโป่งน้ำร้อนแห่งนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษลักษณะพื้นที่ของโป่งน้ำร้อนเป็นพื้นที่แอ่งขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่เป็นแนวยาวบริเวณทุ่งนา ลักษณะน้ำร้อนในบ่อตอนเช้าจะมีสีขุ่น กลางวันจะเปลี่ยนเป็นสีครามๆ ม่วงๆ และตอนเย็นจะกลายเป็นสีใส ซึ่งต่อมา ชาวบ้านจึงเรียกว่า บ่อน้ำร้อนสามสี มีอุณหภูมิประมาณ 60-70 องศา ซึ่งก็ไม่ได้ร้อนมาก  และส่วนใหญ่จะใช้อาบเพราะคนสมัยก่อนมีความเชื่อว่าน้ำร้อนจากโป่งน้ำร้อนสามารถใช้รักษาอาการโรคผิวหนังกลากเกลื้อน หิด เป็นต้น และคุณสมบัติของโป่งน้ำร้อนนั้น ข้าวในนาที่ปลูกบริเวณนี้มักจะเหลืองสามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนที่อื่นๆ แค่ 3 เดือนก็เก็บได้ จากปกติการปลูกข้าวทำนาแต่ละครั้ง ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน เป็นเพราะว่าพื้นที่อาจจะมีความอุดมสมบูรณ์จากการที่ได้รับประโยชน์จากโป่งน้ำร้อนก็ได้

บ่อน้ำร้อนสามสี บ่อที่ 1 บ่อสาธารณะ ไม่คิดค่าบริการในการแช่

บ่อน้ำร้อนสามสี บ่อที่ 2 บ่อที่พัฒนาตกแต่งภูมิทัศน์ด้วยกระบวนการชุมชน ไม่สามารถลงเล่นได้

เนื่องจากใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ในเรื่องน้ำพุร้อนธรรมชาติ และน้ำในส่วนนี้จะใช้ในห้องอาบ

ห้องอาบสไตส์เซนบ้านทุ่ง สำหรับผู้ต้องการความเป็นส่วนตัว คิดว่าบริการ 100 บาท/ท่าน 2 ท่านขึ้นไปและหมู่คณะ ท่านละ 60 บาท

 

ห้องอาบสไตส์เซนบ้านทุ่ง ลักษณะของอาคารที่มีความโล่งโปร่ง มีแนวคิดในการออกแบบสำหรับการแช่บำบัดร่างกายแล้ว ยังสามารถชื่นชมธรรมชาติท้องทุ่งโดยรอบได้

การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การถนอมอาหาร

5.1 ไข่เค็มหมักโคลนออนเซน

เกิดจากการรื้อฟื้นวัฒนธรรมการถนอมอาหาร การรับประทานอาหารจากบรรพบุรุษของชุมชน ที่มีการใช้โคลนจากบริเวณท้องนาบริเวณโป่งน้ำร้อน หรือบ่อน้ำร้อนสามสี มาถนอมอาหาร คือ การทำไข่เค็ม หรือ ในสมัยก่อนเรียกว่า ไข่มัน เพื่อสร้างรสชาติใหม่ให้แก่อาหาร จะมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เค็มมาก ไม่คาว นำมาสู่การพัฒนาประยุกต์กับกรรมวิธีในปัจจุบัน จนสร้างกลุ่มอาชีพขนาดย่อมของชุมชน

ปัจจุบัน กลุ่มมีการทำและจำหน่ายตามท้องตลาด และรับสาธิตกระบวนการทำไข่เค็มหมักโคลนออนเซน ให้แก่คณะศึกษาดูงานจากหลายๆ หน่วยงาน ด้วยทีมวิทยากรเชิงปฏิบัติการท้องถิ่น

5.2 ตอกน้ำมันงา

เกิดจากการรื้อฟื้นวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นจากบรรพบุรุษของชุมชน ที่มีการแปรรูปอาหาร พืช สมุนไพร นำมาสู่การพัฒนาประยุกต์กับกรรมวิธีในปัจจุบัน จนสร้างกลุ่มอาชีพขนาดย่อมของชุมชน นอกจากนี้กระบวนการตอกน้ำมันงานั้น ยังเป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพราะในอดีตชุมชนจะมาร่วมกันช่วยกันตอกน้ำมันงา และแบ่งกันใช้ในชุมชน

คุณสมบัติน้ำมันงา ช่วยในโรคไขข้ออักเสบ เนื่องจากน้ำมันงาเป็นแหล่งวิตามินและแร่ธาตุ ทองแดง สังกะสี แมกนีเซียม เหล็ก และแคลเซียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสังกะสี และทองแดงที่ช่วยในการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง การไหลเวียนโลหิต และการเผาผลาญอาหาร ทองแดงนอกจากนี้ยังเป็นที่รู้จักสำหรับคุณสมบัติต้านการอักเสบและช่วยลดอาการปวดข้ออักเสบบวมของข้อต่อ และเสริมสร้างกระดูก เป็นต้น

ปัจจุบัน กลุ่มมีการทำและจำหน่ายตามท้องตลาด และรับสาธิตกระบวนการตอกน้ำมันงา ให้แก่คณะศึกษาดูงานจากหลายๆ หน่วยงาน ด้วยทีมวิทยากรเชิงปฏิบัติการท้องถิ่น

5.3 การทอผ้าไทเงี้ยว

ผ้าทอไทเงี้ยว โดยเฉพาะผ้าซิ่นที่มีเอกลักษณ์ของชุมชน “ลายหนองขวาง” มาจากชื่อ โป่งหนองขวาง สีน้ำเงินลายขวาง ด้วยคุณสมบัติของผ้านั้น เวลานุ่งแล้วจะไม่ร้อน ซึ่งในปัจจุบันการทอผ้าด้วยวิธีการทอแบบพื้นบ้านมักจะไม่ค่อยเห็นในชุมชน จึงเกิดแนวคิดที่จะอนุรักษ์ และถ่ายทอดเป็นปณิธานแก่คนรุ่นใหม่ต่อไป

รับสาธิตกระบวนการทอผ้าไทเงี้ยว ให้แก่คณะศึกษาดูงานจากหลายๆ หน่วยงาน ด้วยทีมวิทยากรเชิงปฏิบัติการท้องถิ่น

ชุมชนบ้านเหล่าพัฒนานั้นเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีการดำรงชีวิตที่ร่วมกับธรรมชาติ

สิ่งเหนือธรรมชาติ  มีความเป็นอยู่วิถีชีวิตแบบเครือญาติ เรียบง่าย มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเอื้ออาธรแก่กัน มีประเพณีและกิจกรรมและความเชื่อเป็นปัจจัยที่สำคัญที่มีอิทธิพลและส่งผลต่อการดำรงชีวิตตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ตาม ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เอื้อต่อการปกครองของชุมชนที่ทำให้มีการปกครองง่าย และง่ายต่อการรวมกลุ่มและทำกิจกรรมต่างๆที่มีส่วนร่วมในชุมชน

ที่มาของการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะงานประติมากรรมเมล็ดข้าวทุ่งโป่ง

จากบริบทของชุมชนที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่าชุมชนบ้านเหล่าพัฒนามีพัฒนาการในการพัฒนาชุมชนในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชน และด้วยความที่มีพื้นที่ที่เป็นต้นทุนทางทรัพยากรในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน คือ บริเวณโป่งน้ำร้อนสามสี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่โดดเด่นในยุคนี้ของชุมชน หลังจากที่มีการพัฒนาแหล่งโบราณคดีชุมชน  พื้นที่โป่งน้ำร้อนสามสีจึงเป็นแหล่งที่ควรจะยกระดับการปรับปรุงและพัฒนาภูมิทัศน์เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์และเป็นจุดเด่นของชุมชน

ขั้นตอนการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะงานประติมากรรมเมล็ดข้าวทุ่งโป่ง

. การลงพื้นที่สำรวจชุมชน

เพื่อหาอัตลักษณ์ของพื้นที่ที่จะสร้างงานประมากรรมในชุมชน นำไปสู่การได้แนวคิดในการสร้างงานพื้นที่ศิลปะในเมืองและชุมชน

 โปรดติดตามตอนต่อไป…..