Search
Close this search box.

"สมคิด" นั่งหัวโต๊ะประชุมซุปเปอร์บอร์ด นัดแรกเคาะกรอบงบประมาณด้านวิจัย ของหน่วยงาน อววน. ป…

[ad_1]

"สมคิด" นั่งหัวโต๊ะประชุมซุปเปอร์บอร์ด นัดแรกเคาะกรอบงบประมาณด้านวิจัย ของหน่วยงาน อววน. ปี 63 รวม 37,000 ลบ.

(19 สิงหาคม 2562) ที่ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ ซุปเปอร์บอร์ด จัดการประชุมสภานโยบาย (นัดแรก) โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นรองประธาน และมี รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวง อว. ในฐานะกรรมการและเลขานุการ และ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ พร้อมด้วย ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตรพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เข้าร่วมการประชุม เพื่อนำเสนอระบบแผน และการจัดสรรงบประมาณการวิจัย

โอกาสนี้ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในฐานะประธานสภานโยบาย ว่า การประชุมครั้งนี้ ได้รับมอบหมายจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานการประชุม โดยสภานโยบายฯ เป็นเวทีสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนัวัตกรรม (อววน.) ซึ่งถือเป็นขุมพลังหลักในการเปลี่ยนไทยสู่ประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ได้มีการหารือหลายประเด็นสำคัญ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การหารือกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และวงเงินงบประมาณ โดย สอวช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของสภานโยบายฯ ได้ยกร่างกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. พ.ศ. 2563 – 2570

โดยใช้โจทย์สำคัญจากยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 23 ฉบับ และ 15 ประเด็นเร่งด่วน ใน 5 ปีแรกของยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งนโยบายสำคัญของรัฐบาล และข้อเท็จจริงจากเวทีการประชุมหน่วยงานในระบบต่างๆ มาระบุประเด็นที่ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวข้ามความท้าทายเพื่อบรรลุเป้าหมาย ขจัดปัญหาในปัจจุบันและวางรากฐานเพื่ออนาคต ผ่านการบริหารงานในรูปแบบแพลตฟอร์มเพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างแผนงานและโครงการต่าง ๆ ให้สามารถตอบโจทย์ของประเทศได้คมชัดยิ่งขึ้น โดยทั้ง 4 แพลตฟอร์ม ประกอบด้วย 1. การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ 2. การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม 3. การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และ 4. การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่สอดคล้องกับกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดย สอวช. และ สกสว. ได้เสนอกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามนโยบายและยุทธศาสตร์ฯ รวมทั้งสิ้น 37,000 ล้านบาท

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้องวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันในการตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยได้ตั้งเป้าหมายการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ ในปี 2563 ไว้ที่ 1.2% ต่อจีดีพี หรือประมาณ 212,340 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนจากภาครัฐ 25% หรือประมาณ 53,085 ล้านบาท และเป็นการลงทุนจากภาคเอกชน 75% หรือประมาณ 159,255 ล้านบาท ทั้งนี้ ในรอบสำรวจปัจจุบัน ปี 2560 พบว่า ประเทศไทยมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา อยู่ที่ 1% ต่อจีดีพี และเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาจากภาครัฐที่ 25% ในปี 2563 จึงได้มีการเสนอขอกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 37,000 ล้านบาท โดยมีตัวอย่างโปรแกรมสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อาทิ

1. BCG in Action โดยมีตัวอย่างโครงการ เช่น ระบบเกษตรปลอดภัยมาตรฐานส่งออก โปรตีนทางเลือกจากแมลงประเทศไทยไร้ขยะ นวัตกรรมเพื่อสังคมสูงวัย Active Ageing นวัตกรรมด้านฮาลาล และการท่องเที่ยวมูลค่าสูงใน 3 จังหวัดภาคใต้ เป็นต้น

2. Tech-based Acceleration Program แพลตฟอร์มที่เร่งการเกิด Innovative Startup และ Tech-based Enterprise

3. อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ขับเคลื่อนเขตนวัตกรรมรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการแข่งขันของอุตสาหกรรมอนาคต ซึ่งในปัจจุบัน มีบริษัทนวัตกรรมในพื้นที่จำนวน 90 ราย มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ 634 โครงการ และมีบุคลากรวิจัยและพัฒนาจำนวน 2,620 คน

4. อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เป็นแพลตฟอร์มนวัตกรรมระดับพื้นที่ โดยจะช่วยบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของผู้ประกอบการในภูมิภาค เพื่อกระจายโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำ (ตามจุดแข็งของแต่ละพื้นที่) เช่น 1) ภาคเหนือ เน้นอาหารอินทรีย์ การเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากข้าว การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหรรมดิจิทัล 2) ภาคกลาง เน้นชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceutical) เครื่องมือแพทย์ การบริการ อาหารฟังก์ชั่น และ Smart Materials 3) ภาคอีสาน เน้นปศุสัตว์ เชื้อเพลิงชีวภาพ อาหารฟังก์ชั่น เทคโนโลยีการผลิต และ 4) ภาคใต้ เน้นอาหารทะเล อาหารฮาลาล นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยาง/ปาล์ม ท่องเที่ยว

5. การสร้างแรงบันดาลใจเด็ก เยาวชน ให้เกิดความตื่นตัวและพัฒนาไปสู่การเป็นนวัตกร และผู้ประกอบการในอนาคต ในรูปแบบ Public-Private Partnership รองรับเด็กและเยาวชนปีละ 2,000,000 คน เช่น Futurium Inspirium Planetarium Fab Lab &Co-working Space เป็นต้น

6. Work-integrated Learning เพื่อผลิตกำลังคนตามความต้องการของประเทศ รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor)

7. ไทยอารี (Thai Ageing Research & Innovation Platform) มุ่งทำงานเชิงรุกเพื่อตอบโจทย์สังคมสูงวัย สร้างงานวิจัยที่มีผลต่อนโยบายของประเทศ รวมถึงการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการในพื้นที่ เพื่อพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัย และสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้ที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต

8. ชุมชนนวัตกรรม เน้นการพัฒนานักขับเคลื่อนชุมชน ซึ่งเป็นตัวกลางสนับสนุนให้ชุมชนคิดต่อยอดจากทุนหรือจุดแข็งที่แต่ละพื้นที่มี และช่วยเหลือเชื่อมโยงชุมชนสู่องค์ความรู้ แหล่งทุนและตลาด ซึ่งมหาวิทยาลัยท้องถิ่น มูลนิธิ ตลอดจนหน่วยส่งเสริมของภาครัฐที่กระจายตัวอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน จะเข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะเร่งให้กระบวนการนี้เกิดขึ้นและขยายผลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศได้

ทั้งนี้ ก่อนเริ่มการประชุม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงบทบาทของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ว่า สภานโยบาย ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มีบทบาทหน้าที่หลักในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้มีเอกภาพและเป็นระบบ ตลอดจนเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณ และเสนอระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ตามกรอบวงเงิน ตลอดจนมติดตามประเมินผลการปฏิบัติงาน ให้เกิดประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ
#สกสว.




[ad_2]

Source

Loading

Scroll to Top