[ad_1]
4 ยุทธศาสตร์ผลักดัน ‘ไทย’ ให้เป็นประเทศแห่งนวัตกรรม
การชูธงด้าน ‘นวัตกรรม’ ไว้ในนโยบายการพัฒนาและการปฏิรูปประเทศที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) นโยบายประเทศไทย 4.0 รวมทั้งแผนพัฒนานโยบายและแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (2555-2564) ของรัฐบาลคือโจทย์ใหญ่ระดับประเทศที่ทำให้ ‘สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช.’ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานในช่วงปี 2562-2565 ออกมา โดยมุ่งผลักดันประเทศไทยให้ไปสู่ “ประเทศแห่งนวัตกรรม (Innovation Nation)” กล่าวคือเป็นประเทศที่พร้อมเติบโตและสามารถสร้างนวัตกรรมอันนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมได้ ทั้งนี้ สนช. ได้แบ่งการดำเนินงานตามการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงและประเด็นท้าทายในบริบทปัจจุบันออกเป็น 4 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : สร้างความเข้มแข็งระบบนวัตกรรม (STRONG INNOVATION SYSTEM)
การจะก้าวไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคตนั้นจำเป็นต้องปรับมาขับเคลื่อนประเทศบนฐานนวัตกรรม (Innovation-Driven Enterprise) อันต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์เป็นปัจจัยช่วยเพิ่มศักยภาพภาคการผลิตและบริการในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคธุรกิจ ซึ่งเราสามารถสร้างความเข้มแข็งให้ระบบนวัตกรรมได้โดยผลักดันให้เกิดการขยายผลเชิงพาณิชย์และเชิงสังคมในการสร้างมูลค่าด้วยการยกระดับศักยภาพการผลิตของภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการที่เป็นฐานเดิม เพื่อต่อยอดขยายฐานใหม่และพัฒนานวัตกรรมทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ นอกจากนี้ยังสามารถเร่งพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมผ่านการเชื่อมโยงภาคเอกชน ภาครัฐ การศึกษาและสังคมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อสร้างระบบนวัตกรรมที่เข้มแข็งจากพื้นฐานได้อีกด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรม (CATALYST FOR CHANGES)
โครงสร้างพื้นฐานของประเทศในมิติต่าง ๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ดิจิทัล ความรู้ ทักษะ และปัจจัยเอื้อต่าง ๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการและวัตถุประสงค์การพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคม โดยการจะสร้าง ส่งเสริมและพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมให้เกิดความพร้อมทุกด้านทั้งในเชิงระบบและกลไกสนับสนุนทางการเงิน ตลอดจนองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ความเชี่ยวชาญ และกฎระเบียบนั้น จำเป็นต้องกระตุ้นให้เกิดการสร้างโอกาสเพื่อเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศผ่านเครื่องมือสนับสนุนทางการเงินที่ครอบคลุมและเหมาะสม รวมถึงเลือกรูปแบบนวัตกรรมที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในระดับสูงต่อไป
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : สร้างคุณค่าใหม่ทางนวัตกรรม (NURTURING FUTURE VALUE)
การสร้างคุณค่าใหม่ทางนวัตกรรมด้วยการเพิ่มศักยภาพด้านนวัตกรรม พัฒนาทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับอนาคต ทั้งในระดับบุคคล องค์กรและประเทศ รวมถึงการปรับรูปแบบธุรกิจ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยขยายโอกาสการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาการเติบโตของนวัตกรรมในเวทีโลก สร้างการรับรู้ข้อมูล องค์ความรู้ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในอนาคต รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐพร้อมกำหนดทิศทางอย่างเป็นระบบ ทั้งหมดเพื่อให้ประเทศสร้างฐานรายได้และเกิดการจ้างงานเพิ่ม ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและยกระดับศักยภาพทางนวัตกรรมสำหรับอนาคต ทั้งในระดับบุคคล องค์กรและประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : พัฒนาสู่องค์กรแห่งนวัตกรรม (INNOVATION ORGANIZATION)
สนช. มีบทบาทหน้าที่หลักในการดำเนินกิจกรรมเพื่อเร่งรัดให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในภาคการผลิต ภาครัฐ และภาคสังคมโดยรวมอย่างเป็นระบบและยั่งยืน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเสริมสร้างทักษะ ความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะในการปฏิบัติภารกิจให้กับบุคลากร สร้างความเข้มแข็งและการเติบโตภายในองค์กรด้วยการสร้างและพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ มุ่งยกระดับการบริการด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในกระบวนการดำเนินงาน และเชื่อมโยงการดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายและพันธมิตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ขององค์กรและประเทศให้มีประสิทธิภาพ ตรงตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ นำไปสู่การพัฒนาองค์กรแห่งนวัตกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งและการเติบโตภายในองค์กรอย่างมั่นคง
ทั้งนี้ 4 ยุทธศาสตร์เบื้องต้นจะถูกดำเนินการผ่าน สนช. โดยมีจุดยืนที่ชัดเจนคือการ ขับเคลื่อนในฐานะหน่วยประสานเชิงระบบ หรือ “โซ่ข้อกลาง” (System Integrator) เพื่อเป้าหมายสู่การสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติที่แข็งแกร่ง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม จำเป็นต้องมีเครื่องมือและกลไกสนับสนุน รวมทั้งพัฒนาสภาพแวดล้อม ที่เอื้อต่อการเติบโตและเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรม โดยสร้างโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรม และสร้างความเข้มแข็งให้ระบบนวัตกรรมผ่านการเชื่อมโยงภาคเอกชน ภาครัฐ การศึกษาและสังคม ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ดังวิสัยทัศน์ของ สนช. ที่เป็นองค์กรหลักในการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติ และเพื่อเติบโตไปพร้อมกันทั้งระบบอย่างยั่งยืน
.
แหล่งที่มา :
หนังสือ 10th Year NIA: Toward Innovation Nation
https://www.nia.or.th/ยุทธศาสตร์.html
[ad_2]
Source